รีวีวหนังสือ – The Little Book of IKIGAI : The Essential Japanese Way to Finding Your Purpose in Life

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงานที่แสนจะเหนื่อยล้า ผมตั้งใจไปที่ร้านหนังสือเจ้าประจำเพื่อหาซื้อนิยายออกใหม่เล่มหนึ่ง เมื่อได้นิยายที่ต้องการแล้ว ก่อนถึงเคาน์เตอร์ชำระเงิน ผมก็บังเอิญไปสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Little Book of IKIGAI …

ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ IKIGAI มาบ้างแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นยังสนองความต้องการใคร่รู้เกี่ยวกับ IKIGAI ของผมไม่มากพอ ดังนั้นเมื่อผมได้เจอกับหนังสือเล่มนี้ ผมจึงหยิบไปจ่ายเงินเพื่อกลับมาอ่านต่อที่บ้านอย่างไม่ลังเล

และนี่คือที่มาของหนังสือที่ผมจะมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ครับ

 

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยชาวญี่ปุ่น อธิบายแนวคิด IKIGAI ไว้ดีมาก ซึ่งมีหลักสำคัญ 5 ประการ คือ

  1. เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
  2. เป็นตัวของตัวเอง
  3. เน้นความยั่งยืน และ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ
  4. มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ
  5. อยู่กับปัจจุบัน

IKIGAI (生き甲斐) เป็นภาษาญี่ปุ่น เกิดจากการรวมกันของ 2 คำ คือ

  • IKI (生き) แปลว่า ชีวิต
  • GAI (甲斐) แปลว่า เหตุผล / ผลลัพธ์ / คุณค่า

เมื่อนำ 2 คำนี้มารวมกัน IKIGAI จึงหมายถึง เหตุผลที่เรามีชิวิตอยู่ / คุณค่าในชิวตของเรา

หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือเล่มก่อนหน้าที่ผมเคยอ่าน (IKIGAI : The Japanese Secret to a Long and Happy Life) แต่งโดยชาวยุโรป ซึ่งจะให้มุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อแนวคิด IKIGAI และหนังสือเล่มนั้นเล่าเรื่องเหมือนชาวต่างชาติไปเที่ยวแล้วชื่นยชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นเสียมากกว่า

sakura flower
sakura flower

 

เนื้อหาโดยสังเขป

หนังสือเล่มนี้มี ประมาณ 190 หน้า ประกอบด้วย 10 บท ได้แก่ (อธิบายเนื้อหาในแต่ละบทคร่าวๆ ไปด้วยเลยนะครับ)

* ชื่อบทในหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมขอแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายนะครับ

  • บทที่ 1 – IKIGAI คืออะไร
  • บทที่ 2 – เหตุผลที่คุณตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้า
  • บทที่ 3 – Kodawari และประโยชน์ของการคิดเล็กๆ
  • บทที่ 4 – ความสวยงามของ IKIGAI
  • บทที่ 5 – Flow และ ความคิดสร้างสรรค์
  • บทที่ 6 – IKIGAI และ ความยั่งยืน
  • บทที่ 7 – ค้นหาเป้าหมายในชีวิต
  • บทที่ 8 – อะไรที่ฆ่าคุณไม่ตาย จะทำให้คุณแกร่งขึ้น
  • บทที่ 9 – IKIGAI และ ความสุข
  • บทที่ 10 – ยอมรับในสิ่งที่คุณเป็น

สิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือ ในแต่ละบทจะสอดแทรกเรื่องราวที่น่าประทับใจให้เราได้อ่านกันด้วยครับ เช่น

  • พ่อครัวซูชิ และ นักขายปลา
  • ช่างทำถ้วยชาม ที่สืบทอดกันมาถึงรุ่นที่ 9
  • หญิงรับใช้ ผู้สังเกตสิ่งรอบตัว จนเขียนเป็นหนังสือ The Pillow Book
  • ผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli กับความสุขในการทำงานในทุกๆ วัน
    (ผมสังเกตว่าหนังสือเล่มไหนก็ตาม ที่กล่าวถึงงานอนิเมะจากญี่ปุ่น จะไม่กล่าวถึง Studio Ghibli คงเป็นไปไม่ได้)
  • วัดแห่งหนึ่งที่จะต้องบูรณะทุกๆ 20 ปี แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยเงินทองและเสียเวลา หากแต่แฝงไปด้วยแนวคิดที่จะสืบทอดงานศิลปะและการก่อสร้างให้แก่ลูกหลายสืบไป
  • ความพยายามที่เท่ากันของนักซูโม่ แต่ทำไมผลลัพธ์ถึงแตกต่างกัน
  • งาน Comiket เป็นงานที่เปิดให้นักวาดมังงะ (การ์ตูน) มือสมัครเล่นได้มาขายมังงะของตัวเอง และก็จะมีเหล่าโอตาคุ (แฟนการ์ตูน) จำนวนมากมาหาซื้อมังงะที่ตนเองชอบ นอกจากนี้ยังมีนักคอสเพลย์มาสร้างสีสันให้กับงานนี้ด้วย แม้ว่าพวกเขาจะดูแปลกประหลาดในสายตาผู้อื่น แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน ก็คือความชอบในสิ่งที่รัก แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่พื้นที่เล็กๆ นี้ก็ทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งมีความสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ (ผมเพิ่งเคยเห็นหนังสือแนวปรัชญายกตัวอย่างงาน Comiket ก็เล่มนี้ละครับ)
Comiket
Comiket

 

แนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้

ผมชอบเนื้อหาใน บทที่ 3 และ บทที่ 7 มากเป็นพิเศษครับ

บทที่ 3 เล่าถึง ช่างปั้นดินเผาที่สืบทอดการทำถ้วยชามมากว่า 9 รุ่น เขา(และบรรพบุรุษ)ตั้งใจที่จะสร้าง Yohen Tenmoku ถ้วยชาในตำนานขึ้นมากอีกครั้ง

Yohen Tenmoku เป็นถ้วยชาถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 ในประเทศจีน และปัจจุบันมีเหลือแค่ 3 ชิ้นเท่านั้น (ถ้วยใบนี้สวยขนาดไหน ดูได้ที่รูปประกอบด้านล่างครับ)

ด้วยความพยายามกว่าหลายสิบปี และการทดลองกว่าหลายพันครั้ง…

เขาก็ยังไม่สามารถสร้าง Yohen Tenmoku ที่เหมือนกับของจริงได้ แม้ว่าจะน่าผิดหวัง แต่พวกเขาก็ยังพยายามทำสิ่งนี้ต่อไป เพราะการได้พยายามสร้าง Yohen Tenmoku ขึ้นมาอีกครั้ง คือเป้าหมายในชีวิตของเขา

Yohen Tenmoku
Yohen Tenmoku

บทที่ 7 เล่าถึง ซูโม่ กีฬามวยปล้ำของญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีระบบ Ranking ด้วย ผู้เขียนได้ไปพูดคุยกับนักซูโม่ 3 คน

คนแรกเป็นนักซูโม่อันดับต้นๆ (ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะอันดับ 7) เขาพยายามฝึกฝนตนเองให้เก่งกว่าเดิม เพื่อที่จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ให้ได้ แน่นอนว่าเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่

คนที่สองเป็นนักซูโม่อันดับกลางๆ (ชนะ 50% แพ้ 50%) และตอนนี้อายุของเขาก็เข้าใกล้วัยที่จะต้องเลิกเล่นซูโม่แล้ว แต่เขาก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่

คนที่สามเป็นนักซูโม่ท้ายตาราง (ชนะ 2 แพ้ 100 กว่าครั้ง) เขาอายุยังน้อยและยังมีเวลาให้ฝึกฝน ซึ่งแน่นอนว่าเขาเลือกที่จะพยายามต่อไป เพราะเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่

Sumo
Sumo

 

ความประทับใจกับหนังสือเล่มนี้

ผมชอบสไตล์การเล่าเรื่องแบบญี่ปุ่น คือ ในแต่ละบท ผู้เขียนจะมีการเล่าเรื่องก่อน (ยกตัวอย่างเรื่องราวในชีวิตจริง) แล้วค่อยโยงเข้าสู่แนวคิดที่ต้องการนำเสนอ และเนื้อหาในแต่ละบทก็เชื่อมต่อกัน ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านนิยาย / ดูอนิเมะของญี่ปุ่นเลยครับ

IKIGAI ไม่ใช่แค่แผนภาพวงกลม 4 วงซ้อนกัน ตามที่เราเคยเห็นกันเท่านั้น แต่มันคือแนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและมีความสุขครับ 🙂

หนังสือเล่มนี้ผมให้ 5 / 5 ดาว (ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง)

หมายเหตุ: ผมเคยเห็นจากเว็บไซต์ว่ามีสำนักพิมพ์ไทยแปลหนังสือเล่มนี้จำหน่ายด้วย แต่ผมยังไม่เคยอ่าน จึงไม่ทราบว่าฉบับแปลไทยเป็นอย่างไรบ้างนะครับ

ikigai diagram
ikigai diagram

 

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ The Little Book of IKIGAI : The Essential Japanese Way to Finding Your Purpose in Life
ประเภท หนังสือภาษาอังกฤษ, พัฒนาตนเอง, ปรัชญา
ผู้เขียน Ken Mogi
สำนักพิมพ์ Quercus Books (UK)
ปีที่พิมพ์ 2017
The Little Book of IKIGAI
The Little Book of IKIGAI

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *