หนังสือ Start with Why เล่มนี้ นำเสนอแนวคิดที่ว่า เราควรตั้งคำถามด้วยจุดมุ่งหมายเสียก่อน (ทำไม?) แล้วจึงคิดถึงวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย (อย่างไร? และ อะไร?)
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง พี่น้องตระกูลไรท์ ผู้ที่สามารถสร้างเครื่องบินได้สำเร็จเป็นทีมแรก ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ก็ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรมากมาย แต่พวกเขามีความฝันที่แน่นแน่ว่าวันหนึ่งมนุษย์จะบินได้
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง สตีฟ จ็อบส์ และ สตีฟ วอซเนียก ที่เรารู้จักกันในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท Apple (เจ้าของ MacBook, iPhone, etc.) ทั้งคู่เชื่อในความแตกต่างและต้องการจะปฏิวัติสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (หนังสือเล่มนี้จะยกกรณีตัวอย่างของแอปเปิลค่อนข้างบ่อยทีเดียว)
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง บิล เกตต์ ผู้พัฒนาโปรแกรม Windows, Office เจ้าของบริษัท Microsoft ผู้ที่เชื่อว่าคนทั่วไปก็สามารถมีประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่ากับองค์กรใหญ่ๆ ได้ด้วยซอฟท์แวร์ที่เขาเป็นผู้พัฒนา
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียมของคนผิวสีในอเมริกา ผู้ฝันถึงสังคมที่มีความเท่าเทียมกันของคนทุกเชื้อชาติ
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง สายการบินเซาท์เวสต์ที่เป็นผู้บุกเบิกสายการบินราคาประหยัดในอเมริกา ในยุคการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเกินกว่าจะไขว่คว้า (ราคาแพงมาก)
หากคุณอยากรู้ว่าความสำคัญของจุดมุ่งหมายหรือการถามตัวเองว่า “ทำไม” นั้นสำคัญอย่างไร? สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือเล่มนี้ครับ
เนื้อหาโดยสังเขป
หนังสือ Start with Why เล่มนี้ มีทั้งหมด 262 หน้า แบ่งเป็น 14 บท (6 ส่วน) ดังนี้ครับ
- บทนำ: ทำไมต้องเริ่มด้วยการถามว่าทำไม
- ส่วนที่ 1 – โลกที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการถามว่าทำไม
- บทที่ 1 – ข้อสรุป
- บทที่ 2 – รางวัลและการลงโทษ
- ส่วนที่ 2 – ทางเลือกอื่น
- บทที่ 3 – ทำไมฮอนด้าถึงเจ๋งกว่าเฟอร์รารี่
- บทที่ 4 – ทำไมเราถึงไม่ค่อยใช้เหตุผลในการตัดสินใจ
- บทที่ 5 – ทำไมการทำธุรกิจถึงเหมือนกับการออกเดต
- ส่วนที่ 3 – ผู้นำต้องมีผู้ตาม
- บทที่ 6 – ทำไมต้องสร้างความเชื่อใจ
- บทที่ 7 – ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเอาใจยากนัก
- ส่วนที่ 4 – หาแนวร่วม
- บทที่ 8 – ทำไมคนเดียวถึงหัวหาย
- บทที่ 9 – ทำไมแอปเปิลถึงแตกต่าง
- บทที่ 10 – ทำไมคนถึงสักรูปโลโก้ของฮาร์เลย์-เดวิดสัน
- ส่วนที่ 5 – ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความสำเร็จ
- บทที่ 11 – ทำไมวอลมาร์ตถึงตกสวรรค์
- บทที่ 12 – ทำไมความสำเร็จถึงไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด
- ส่วนที่ 6 – โลกที่เริ่มต้นจากการถามว่าทำไม
- บทที่ 13 – จุดมุ่งหมายมาจากไหน
- บทที่ 14 – การแข่งขันครั้งใหม่
แนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอ 2 ทฤษฎีที่น่าสนใจ คือ
ทฤษฎีวงแหวนทองคำ (Golden Circle) กล่าวว่า เวลาเราจะทำอะไรควรเริ่มด้วยจากการตั้งคำถามว่าทำไม? (จุดมุ่งหมาย) จากนั้นค่อยคิดว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร? (วิธีการ) และต้องทำอะไรบ้าง? (สิ่งที่ต้องทำ)
การทดสอบขึ้นฉ่าย (Celery Test) [ผมชอบเรื่องนี้มาก] เรื่องมีอยู่ว่า ในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง คุณได้พบกับนักธุรกิจมากมาย
- คนที่ 1 บอกว่า ตอนนี้ M&M กำลังขายดี
- คนที่ 2 บอกว่า ตอนนี้ Oreo กำลังขายดี
- คนที่ 3 บอกว่า ตอนนี้ เค้ก กำลังขายดี
- คนที่ 4 บอกว่า ตอนนี้ น้ำเต้าหู้ กำลังขายดี
- คนที่ 5 บอกว่า ตอนนี้ ผักขึ้นฉ่าย กำลังขายดี
เมื่อคุณไปที่ Supermarket คุณก็เลยซื้อทุกอย่างที่ทุกคนบอกว่าดี เมื่อชำระเงินแต่ละคนที่มองคุณไม่มีทางรู้เลยว่าคุณมีจุดยืนอย่างไร?
แต่ถ้าคุณมีความตั้งใจว่าจะซื้อของที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่านั้น คราวนี้ในตะกร้าของคุณก็จะมีแค่ น้ำเต้าหู้ และ ผักขึ้นฉ่าย คราวนี้คนอื่นๆ เมื่อเห็นตะกร้าของคุณก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่า คุณเป็นคนรักสุขภาพ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาที่เราทำอะไรแล้วมีจุดมุ่งหมาย การตัดสินใจจะง่ายขึ้นเยอะเลยครับ
ความประทับใจกับหนังสือเล่มนี้
หนังสือ Start with Why เป็นหนังสือที่นำเสนอแนวคิด ให้เราเริ่มการตั้งคำถามจาก ทำไม? อย่างไร? อะไร? ได้ดีมากครับ แต่เนื้อหาในหนังสือค่อนข้างอัดแน่นไปหน่อย อ่านไปนานๆ อาจจะเบื่อและเหนื่อยได้
แต่หากใครกำลังต้องการพัฒนาตนเอง อยากทำอะไรด้วยวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น โดยเฉพาะใครที่มีไอเดียจะสร้างธุรกิจ จะพลาดหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ครับ
คะแนน 9 / 10
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ | Start with Why (ทำไมต้องเริ่มด้วย “ทำไม”)
** ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “ตั้งคำถามเพียง 1 ข้อ ก็พลิกจากตามขึ้นมานำ” |
ผู้เขียน | Simon Sinek |
ผู้แปล | วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา |
สำนักพิมพ์ | WE Learn (วีเลิร์น) |
ปีที่พิมพ์ | ต้นฉบับ 2009
แปลไทย 2015, 2017 |
** เคยซื้อหนังสือเล่มหนึ่งจากสำนักพิมพ์ WE Learn (วีเลิร์น) ชื่อหนังสือ Rework (ยกเครื่องความคิด) เมื่อนานมาแล้ว
คราวนี้พอสำนักพิมพ์พิมพ์เล่มวางขายใหม่ แต่เปลี่ยนชื่อไทยเป็น Rework (จงทิ้งทุกอย่างที่คุณรู้ก่อนเริ่มทำธุรกิจ) ผมก็นึกว่าเป็นคนละเล่มกัน พอถึงบ้านกลับมาเทียบกับเล่มเก่า เนื้อหาข้างในเหมือนกันเลยครับ T^T
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าจะซื้อหนังสือแปลไทย ให้สังเกตชื่อต้นฉบับจะดีที่สุดครับ เพราะชื่อไทยตีพิมพ์แต่ละครั้งอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ (จะได้ไม่พลาดเหมือนผมอีก)