รีวีวหนังสือ – IKIGAI : The Japanese Secret to a Long and Happy Life

เป็นหนังสือของผู้เขียนชาวยุโรปนามว่า Hector Garcia และ Francesc Miralles พวกเขาเดินทางไปยังหมู่บ้าน Ogimi หมู่เกาะ Okinawa (หมู่เกาะทางใต้สุด) ประเทศญี่ปุ่น หมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่า Centenarian Village เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรมากที่สุดในโลก

ด้วยความอยากรู้ว่าชาว Ogimi มีเคล็บลับในการมีอายุที่ยืนยาวอย่างมีความสุขและสุขภาพดีได้อย่างไร? เขาทั้งสองจึงได้สัมภาษณ์ชาวบ้าน และเราจะได้รู้ความลับของพวกเขาในหนังสือเล่มนี้

(สาเหตุที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้) จำได้ว่าช่วงนั้นผมไปอ่านเจอบทความเกี่ยวกับ IKIGAI และได้เห็นแผนภาพนี้ ผมก็เลยอยากหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปไปมามาก็เจอกับหนังสือเล่มนี้ แต่พออ่านไปเรื่อยๆ จนจบเล่มก็รู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อธิบายอะไรเกี่ยวกับแผนภาพนี้เลย

ikigai diagram
ikigai diagram

 

เนื้อหาโดยสังเขป

หนังสือเล่มนี้ต้นฉบับเป็นภาษาสเปน ตีพิมพ์เมื่อปี 2016 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2017 โดย Heather Cleary

หนังสือเล่มนี้มี ประมาณ 180 หน้า ประกอบด้วย 9 บท ได้แก่ (อธิบายเนื้อหาในแต่ละบทคร่าวๆ ไปด้วยเลยนะครับ)

บทที่ 1 Ikigai –  บทนี้อธิบายถึงแนวคิดกว้างๆ ของ Ikigai, 5 สถานที่ที่มีค่าเฉลี่ยอายุของประชากรมากที่สุด, และที่มาของการเดินทางตามหาเคล็ดลับในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

บทที่ 2 Antiaging Secrets

  • หากจิตใจของเรายังกระตือรือร้น (active) ร่างการของเราก็จะยังคงความหนุ่มสาว (youth) ไว้ได้
  • ความเครียดที่มากเกิดไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ความเครียดที่พอดีถือเป็นความท้าทายในชีวิต
  • อย่านั่งทำงานหรือนั่งเฉยๆ เป็นเวลานาน ควรลุกขึ้นมาเดินทุกๆ 1-2 ชั่วโมง

บทที่ 3 From Logotherapy to Ikigai – บทนี้พูดถึง Logotherapy คือ การค้นหาความหมายให้กับชีวิต เมื่อเรารู้สึกว่างเปล่า ผิดหวัง หรือวิตกกังวล เราอาจขาดเป้าหมายของการใช้ชีวิต การมีเป้าหมายในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากนี้ยังพูดถึง Morita Therapy คือ การยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเรา ทำในสิ่งที่เราควรทำ และค้นหาเป้าหมายในชีวิต

บทที่ 4 Find Flow in Everything You Do – Flow หมายถึง การที่เราทำงานอย่างมีความสุข สิ่งมีเคล็ดลับง่ายๆ เช่น

  • เลือกทำงานที่ท้าทาย (งานที่ยากขึ้น แต่ต้องไม่ยากจนเกินไป)
  • มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
  • จดจ่อแค่ทีละหนึ่งงาน

ช่างฝีมือ วิศวกร อัจฉริยะ และโอตาคุ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ ความคลั่งไคล้ในสิ่งที่พวกเขารักนั่นเอง

บทที่ 5 Master of Longevity – บทนี้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้คนที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เพื่อหาว่าพวกเขามีเคล็ดลับในการมีอายุยืนอย่างไรบ้าง

บทที่ 6 Lesson from Japan’s Centenarian – บทสรุปเคล็ดลับที่เราได้จากการสัมภาษณ์ในบทที่แล้ว

  • อย่าวิตกกังวล
  • ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี
  • ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ทุกวัน
  • ใช้ชีวิตไม่ต้องเร่งรีบ
  • มองโลกในแง่ดี

บทที่ 7 The Ikigai Diet – บทนี้ว่าด้วยเคล็ดลับการทานอาหาร โดยทานแค่พออิ่ม เมื่อใกล้จะอิ่มก็หยุดกิน (กินแค่ 80% ก็พอ)

บทที่ 8 Gentle Movement, Longer Life – บทนี้ว่าด้วยวิธีการออกกำลังกาย (เบาๆ) แบบต่างๆ เช่น Yoga, Tai Chi, Qi gong เป็นต้น

บทที่ 9 Resilience and Wabi-sabi – บทนี้ว่าด้วยการบริหารจิตใจให้เตรียมพร้อมรับกับความไม่แน่นอนในชีวิต โดยอ้างอิงทั้งหลัก Buddhism, Taoism, Confucianism ซึ่งเรามีวิธีรับมือกับความไม่แน่นอนง่ายๆ คือ

  • สร้างทางเลือกให้มากขึ้น
  • จำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
  • กำจัดสิ่งที่จะทำให้เราอ่อนแอ
sakura flower
sakura flower

 

แนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้

ผมชอบแนวคิดในบทที่ 4 ที่เล่าถึง Flow – Flow คือสภาวะที่เรามีความสุขกับงานที่เราทำ (จนบางครั้งเราก็ลืมเวลาไปเลย) หากงานที่เราทำอยู่ทุกวันเป็นเช่นนี้ แสดงว่า งานนี้เป็นงานที่มีคุณค่าและงานที่ใช้สำหรับเรา และสิ่งนี้จะทำให้ทุกวันของเรามีความหมาย (เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เรารัก)

นอกจากนี้ยังมี Microflow คือ การทำให้งานบ้าน/งานประจำของเราน่าสนุกขึ้น โดยการเพิ่มความท้าทายใหม่ๆ ให้กับงานที่แสนจะน่าเบื่อ เช่น ถ้าเราทำความสะอาดบ้านโดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง ลองพยายามทำให้เสร็จเร็วขึ้นอีก 15 นาที หรือ ถ้าเราทำอาหารอย่างหนึ่งเป็นประจำ ลองใส่วัตถุดิบ/ส่วนผสมใหม่ๆ เผื่อว่าเราจะได้อาหารรสชาติใหม่ๆ ไม่ซ้ำเดิม

และผมก็ชอบแนวคิดในบทที่ 9 ที่เล่าถึง Resilience – Resilience แปลตรงๆ คือ ความยืดหยุ่น แต่ในหนังสือนี้หมายถึง การที่เราสามารถปรับตัว/ยอมรับกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

ในชีวิตคนเราต้องพบกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ มีทั้งสิ่งที่เราควบคุมได้และสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราต้องเตรียมใจยอมรับและปรับตัวกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราควบคุมได้

เมื่อเราผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาได้ เราจะเข้มแข็งและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งในหนังสือใช้คำว่า Antifragile (เหมือนกับประโยคหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมาว่า อะไรที่ฆ่าเราไม่ตาย จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น)

จงอยู่กับปัจจุบัน อย่ายึดติดกับอดีต และอย่ากังวลกับอนาคต

 

ความประทับใจกับหนังสือเล่มนี้

แม้ว่าจะเป็นหนังสือเล่มเล็ก แต่ก็อัดแน่นไปด้วยแนวคิดในการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ที่เราสามารถนำไปต่อยอดเพิ่มเติมได้

ถ้าให้ผมตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย ผมคงตั้งชื่อว่า “บันทึกการเดินทาง ค้นหาความสุขและความหมายของชีวิต ที่หมู่บ้านโอกิมิ”

ยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้ ราคา 500 บาท ค่อนข้างแพงครับ แต่ถ้าภาษาอังกฤษไม่ใช่ปัญหา และอยากหาหนังสือ feel good สักเล่มมาติดบ้านไว้อ่านยามว่าง ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ

หนังสือเล่มนี้ผมให้ 4 / 5 ดาว (ควรอ่านสักครั้ง)

 

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ IKIGAI : The Japanese Secret to a Long and Happy Life
ประเภท หนังสือภาษาอังกฤษ, พัฒนาตนเอง, ปรัชญา
ผู้เขียน Hector Garcia และ Francesc Miralles
ผู้แปล Heather Cleary
สำนักพิมพ์ Penguin Books
ปีที่พิมพ์ ต้นฉบับ (สเปน) 2016 / แปล (อังกฤษ) 2017

 

ikigai - the japanese secret to a long and happy life
ikigai – the japanese secret to a long and happy life

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *