รีวิวหนังสือ – How will you measure your life? (ปัญญาวิชาชีวิต)

หนังสือ “ปัญญาวิชาชีวิต” เล่มนี้ แปลโดย “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” แปลจากหนังสือต้นฉบับที่มีชื่อว่า “How will you measure your life?” เขียนโดย “Clayton M. Christensen”
จุดประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้ คือ การที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับผู้อ่านไว้เพียง 3 ข้อ

  • เป็นคำถามที่เราตอบตัวเอง
  • เป็นคำถามที่ไม่มีกำหนดส่งคำตอบ
  • แต่… เป็นคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ในชีวิตนี้

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราตอบคำถามเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นครับ

หนังสือเล่มนี้หนาประมาณ 200+ หน้า ตัวเนื้อหาจริงๆ ที่คุณ Clayton เขียนไว้มีเพียง 80 หน้า แต่คุณภิญโญได้อธิบายเพิ่มเติมไปอีก 90 หน้า รวมบทนำและบทสรุปอีก 30 หน้า – ผู้อ่านสามารถอ่านเนื้อหาหลักแล้วจึงไปอ่านบทเสริม หรือ จะอ่านเนื้อหาหลักสลับกับบทเสริมก็จะได้อีกอรรถรสในการอ่านครับ

เนื้อหาโดยย่อ

คุณ Clayton เปิดประเด็นด้วยข้อคิดที่น่าสนใจว่า เราควรจะสนใจ How to think? (คิดอย่างไร?) มากกว่า What to think? (คิดอะไร?)
จากนั้นคุณ Clayton ได้ถาม “คำถาม 3 ข้อ” แก่ผู้อ่าน เป็นคำถามง่ายๆ แต่การที่เราจะตอบให้ได้นั้น มันไม่ง่ายเลย (ซึ่งบางคำถามก็ถึงกับทำให้ผมต้องหยุดคิดพิจารณาเลยทีเดียว

  • ข้อแรก – เรามีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า?
  • ข้อสอง – เรามีความสุขกับครอบครัวและคู่ชีวิตหรือเปล่า?
  • ข้อสาม – เรามีแนวโน้มว่าจะติดคุก/ต้องโทษหรือเปล่า?

*หมายเหตุ : คำถามในหนังสือไม่ได้เขียนแบบนี้ แต่ผมปรับภาษาเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นครับ

How will you measure your life - ปัญญาวิชาชีวิต (2)
How will you measure your life – ปัญญาวิชาชีวิต (2)

เงินไม่ใช่แรงจูงใจสูงสุดในชีวิต – (Frederick herzberg กล่าวไว้) – หากแต่เป็น โอกาสที่จะได้เรียนรู้, ความท้าทายใหม่ๆ, การได้ทำเพื่อผู้อื่น, และ ผู้อื่นชื่นชมผลงานของเรา – ดังนั้น การได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมายมากกว่าเงินตรา จะทำให้เรามีความสุขมากกว่า

ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น – การให้เวลากับครอบครัวเป็นการลงทุนระยะยาวที่เราจะละเลยไม่ได้

ยึดมั่นในคุณธรรม – แม้จะทำความดีมาร้อยครั้ง แต่พลาดพลั้งทำชั่วเพียงหนึ่ง ก็อาจจะทำให้ชีวิตต้องพบกับจุดจบอย่างน่าเวทนา

จัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด – เวลา, กำลัง, ปัญญา – ให้สมดุลและคุ้มค่าที่สุด

ผู้บริหารที่ยิ่งใหญ่ล้วนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน และยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

แนวคิดที่ชอบ

Age of Disruption – ยุคที่เทคโนโลยีมาพร้อมกับผู้เล่นหน้าใหม่ ที่พร้อมจะเข้ามาทำลายล้างธุรกิจแบบเดิม … เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก (ประวัติศาสตร์จีน) … เราต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท และเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

Do What You Love – การได้ทำงานในสิ่งที่เรารักถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ดังที่ Steve Jobs ได้กล่าวไว้

คำคมโดนใจ

  • ความปรารถนา/เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร?
  • ถ้าเราใช้เวลาในการค้นหาจุดหมายหรือความปรารถนาในชีวิต เมื่อเรามองย้อนกลับมา เราจะพบว่านี่เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดในชีวิต (วิชาค้นพบตนเอง)
  • หากปราศจากเป้าหมาย ชีวิตของมนุษย์ย่อมว่างเปล่า
  • การตัดสินใจว่าจะจัดสรร เวลา/กำลัง/ปัญญา ของเราไปกับสิ่งใด คือหัวใจสูงสุดของกลยุทธ์การใช้ชีวิต
  • การวางตัวเองไว้กับวิธีคิดในอดีต ถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด
  • เราต้องค้นให้พบว่าจะยืนหยัดเพื่อหลักการไหน แล้วขีดเส้นให้ชัดลงไป ว่านี่คือเขตปลอดภัยในชีวิต
  • ถ้าเราคิดว่ามีแต่คนฉลาดเท่านั้นที่จะเป็นครูของเราได้ โอกาสในการเรียนรู้ของเราจะถูกจำกัดเป็นอย่างมาก
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้คนเท่าใด ที่คุณช่วยให้พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น
  • ดับไฟต้องทำเมื่อเห็นควัน มิใช่ทำเมื่อไฟลุกไหม้แล้ว
  • ไม่ใส่ใจ ไม่ปรับปรุง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นหนทางสู่ความวิบัติทั้งธุรกิจและชีวิต
  • การมีแนวคิดและทัศนคติที่ดี ไม่ต่างอะไรกับการมีเข็มทิศ ที่จะช่วยนำทางชีวิตเราไปให้ถึงฝั่ง ในวันที่เราต้องแล่นเรือผ่านมรสุมชีวิต
  • เมื่อเกิดวิกฤต จงอย่าถามหาคำตอบจากปราชญ์ หากจงเรียนรู้วิธีคิดจากปราชญ์เหล่านั้น
  • เงินไม่ใช่ปัจจัยสูงสุดในการสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์
  • หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ คือการวางเป้าหมายใหญ่ แล้วตอบให้ได้ว่า เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
  • เมื่อจิตใจไม่สงบ ย่อมมิอาจเรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งได้
  • ชีวิตมนุษย์เราจะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อ เราใช้ชีวิตและทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น
  • ขงจื่อกล่าวไว้ หัวใจของปราชญ์ คือ การฟัง (ฟังแล้วคิด)
  • จวงจื่อกล่าวไว้ เราจะพบกับความสุขทันที เมื่อเราหยุดแสดงหาความสุข (รู้จักพอ)

สรุป

หนังสือ “ปัญญาวิชาชีวิต” เล่มนี้มีราคาแพง (280 บาท) เมื่อเทียบกับจำนวนหน้า (220 หน้า) แต่ผมว่าคุณค่าที่ผู้อ่านจะได้จากหนังสือเล่มนี้นั้น มากกว่ามูลค่าหนังสือเล่มนี้แน่นอนครับ – หนังสือเล่มนี้ ผมให้ 4 / 5 ดาว (น่าอ่าน)

แต่สำหรับใครที่เคยอ่าน Managing Oneself (ปัญญางาน จัดการตน) ผลงานของ Peter F. Drucker ที่คุณภิญโญเคยแปลไว้เมื่อปีที่แล้ว จะพลาด How will you measure your life? (ปัญญาวิชาชีวิต) เล่มนี้ไม่ได้ครับ

เพิ่มเติม

ผมบังเอิญไปเจอคลิปที่คุณ Clayton พูดไว้ในงาน TED x Boston – ถ้าเพื่อนๆ มีเวลาว่าง ลองไปดูคลิปนี้นะครับ

One Comment

  1. Pingback: รีวิวหนังสือ – Managing Oneself (ปัญญางาน จัดการตน) - Wiki-M.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *